Yo!

Yo!

Friday, July 4, 2008

ดนตรีประเภทบรรเลง (Instrumental Music) #4 ~ Sonata

โซนาตา (Sonata)

โซนาตา เป็นคำภาษาอิตาเลียน (Italian Sonare, “to sound”) หมายถึง ฟัง จัดเป็นบทเพลงที่มีความสำคัญและมีบทบาทตลอดมาตั้งแต่สมัยบาโรคจนถึงสมัยปัจจุบัน คล้ายคลึงกับลักษณะของคอนแชร์โต โซนาตา มีอยู่สองลักษณะ คือ โซนาตาที่บรรเลงเป็นกลุ่มเครื่องดนตรีเล็ก ๆ ซึ่งเป็นโซนาตาแบบหนึ่งในสมัยบาโรค และโซนาตาที่บรรเลงโดยเครื่องดนตรีชนิดเดียว หรือ สองชนิด แต่เน้นการแสดงออกของเครื่องดนตรีเพียงชนิดเดียว โดยมีเครื่องดนตรีอีกชนิดหนึ่งคลอให้บทเพลงสมบูรณ์ขึ้น ซึ่งอาจเรียกว่า โซโลโซนาตาได้ โซนาตาในลักษณะนี้เป็นความหมายของโซนาตาที่ใช้กันตั้งแต่สมัยคลาสสิกจนถึงปัจจุบัน (ณรุทธ์ สุทธจิตต์ ,2535 :119)

นอกจากนี้ ณัชชา โสคติยานุรักษ์ (2542:72) ได้ให้ความหมายของคำว่า “โซนาตา”แปลว่า “เสียง” เมื่อพูดถึงโซนาตา อาจหมายถึง ประเภทของบทประพันธ์หรือประเภทของสังคีตลักษณ์ก็ได้ โซนาตาที่เป็นประเภทของบทประพันธ์ เป็นเพลงสำหรับเครื่องดนตรีเดี่ยว เช่น เปียโนโซนาตา ก็คือ บทเพลงสำหรับเดี่ยวเปียโน ไวโอลินโซนาตา เป็นบทเพลงสำหรับเดี่ยวไวโอลิน ฟลูทโซนาตา เป็นบทเพลงสำหรับเดี่ยวฟลูท อนึ่งเพลงเดี่ยวสำหรับเครื่องดนตรีที่ไม่ใช่เปียโนจะมีเครื่องดนตรีบรรเลงประกอบซึ่งมึกเป็นเปียโน บทบาทของเครื่องดนตรีที่บรรเลงประกอบในสมัยแรก ๆ จะเป็นแนวสนับสนุนเท่านั้น แต่ในสมัยต่อ ๆ มา เครื่องดนตรีประกอบจะเปลี่ยนบทบาทเป็นการบรรเลงร่วมกันหรือโต้ตอบกันมากกว่า ความสำคัญของบทบาทใกล้เคียงกันมากขึ้น บทประพันธประเภทโซนาตามักประกอบด้วย 3 หรือ 4 ท่อน ท่อนแรกมักอยู่ในอัตราจังหวะเร็ว ท่อนที่ 2 อยู่ในอัตราจังหวะช้า ท่อนที่ 3 มักอยู่บรรยากาศที่ร่าเริงสนุกสนานในจังหวะเต้นรำแบบมินูเอต

ประวัติของโซนาตาโซนาตา เป็นบทเพลงที่มีมาตั้งแต่สมัยบาโรค ซึ่งมีลักษณะเฉพาะต่างไปจากโซนาตาในสมัยคลาสสิก จึงเรียกว่า “บาโรคโซนาตา” โซนาตาในลักษณะนี้เป็นบทเพลงสำหรับวงดนตรีเล็กใน ลักษณะของแชมเบอร์มิวสิก โดยมีเครื่องดนตรีตั้งแต่หนึ่งชิ้นจนถึงหกหรือแปดชนิด ทีนิยมมากในสมัยนี้ คือ ทริโอโซนาตาเป็นบทเพลงสำหรับไวโอลินสองเครื่องและเครื่องบรรเลงแนวเบส (Continuo) อีกสองชิ้น โซนาตา

ในสมัยบาโรคมีสองลักษณะคือ โซนาตาสำหรับวัด (Church sonata) เป็นเพลงชั้นสูงเน้นรูปแบบการสอดประสานทำนอง (Contrapuntal texture) ประกอบด้วย 4 ท่อน (ช้า – เร็ว – ช้า - เร็ว) และโซนาตาคฤหัสถ์ (Chamber sonata) เป็นเพลงบรรเลงตามบ้านมีลักษณะเป็นเพลงชุดเต้นรำในรูปแบบของ Binary form เช่น ประกอบด้วย Prelude – Allemande – Courante – Sarabande Gigue ( หรือ Gavotte)

ในสมัยคลาสสิก โซโลโซนาตาเริ่มเข้ามามีบทบาทมากกว่าบาโรคโซนาตา จึงเรียกโซโลโซนาตา อีกชื่อหนึ่งว่า “คลาสสิกโซนาตา” ลักษณะของโซนาตาในสมัยคลาสสิกตอนต้นยังมีลักษณะไม่แน่นอนอาจจะมีเพียงท่อนเดียว หรือสามท่อน (เร็ว – ช้า - เร็ว) รูปแบบพัฒนามาเรื่อยจนมีรูปแบบแน่นอน คือ มีลักษณะคล้ายซิมโฟนี คือ มี 4 ท่อน หรือ คล้ายคอนแชร์โต คือ มี 3 ท่อน เครื่องดนตรีที่นิยมในการประพันธ์โซนาตา คือ เปียโน และไวโอลิน ไฮเดิน โมทซาร์ และเบโธเฟน คือผู้ประพันธ์เพลงที่ให้ความสนใจกับการประพันธ์ เพลงประเภทนี้เช่นเดียวกับซิมโฟนีและคอนแชร์โต ไฮเดินประพันธ์ โซนาตาไว้ทั้งหมด 62 บท โมทซาร์ทประพันธ์ไว้ 21 บท และประมาณ 37 บท ประพันธ์โดยเบโธเฟน ปกติโซนาตาสำหรับเปียโนใช้เปียโนบรรเลงเพียงอย่างเดียว แต่ถ้าเป็นโซนาตาของเครื่องดนตรีอื่น ๆ เช่น ไวโอลิน ฟลูท ทรัมเป็ต ฯลฯ มักใช้เปียโนคลอไปด้วย

ในสมัยโรแมนติก ผู้ประพันธ์เพลงคนสำคัญ ๆ ยังคงนิยมประพันธ์เพลงโซนาตา โดยเฉพาะเปียโนโซนาตา ไม่ว่าจะเป็น ชูเบิร์ท ชูมานน์ ลิสซท์ โชแปง และบราห์มส์ รวมทั้งผู้ประพันธ์รุ่นหลัง เช่น ดวอชาค กรีก แซงค์ – ซองส์ สเตราส์ ไชคอฟสกี และวากเนอร์ โซนาตายังคงเป็นบทเพลงที่ผู้ประพันธ์ในศตวรรษที่ 20 สนใจ แม้จะมีบทเพลงในลักษณะอื่น ๆ ที่นิยมประพันธ์กันมากกว่าโซนาตา ผู้ประพันธ์เพลงในยุคนี้ที่มีผลงานด้านโซนาตา ได้แก่ เดอบูสซี เบิร์ก ไอฟส์ เป็นต้น (ณรุทธ์ สุทธจิตต์, 2535: 120)

ลักษณะของโซนาโตลักษณะที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้เป็นลักษณะของคลาสสิกโซนาตา ซึ่งเป็นรูปแบบที่สำคัญ ซึ่งต่อมาในสมัยโรแมนติก และในสมัยปัจจุบันยังใช้ลักษณะเช่นนี้อยู่ ประกอบด้วย 3 หรือ 4 ท่อน ซึ่งมีรูปแบบแต่ละท่อนดังนี้

ท่อนแรก มีจังหวะเร็ว (Allegro) บางครั้งมีบทนำที่ช้า ใช้รูปแบบโซนาตาอัลเลโกรลักษณะซับซ้อนเร้าใจ

ท่อนที่ 2 จังหวะช้า (Andante, Largo หรือ Lento) รูปแบบที่นิยม ได้แก่ Sonata – allegro form, Ternary form, Binary form, Theme and Variation ลักษณะช้ามีแนวทำนองไพเราะ เน้นการแสดงออกของอารมณ์

ท่อนที่ 3 มีจังหวะเร็วหรือค่อนข้างเร็ว (Allegro หรือ Allegretto) รูปแบบ คือ มินูเอท หรือ สเคร์กโท (expanded ternary form) ลักษณะเป็นจังหวะเต้นรำส่วนใหญ่จะเป็นอัตราจังหวะ 3/4

ท่อนที่ 4 มีจังหวะเร็ว (Allegro, Presto) รูปแบบอาจจะเป็นโซนาตาอัลเลโกร หรือ รอนโด ลักษณะเร็ว มีพลังในตอนจบ

โซนาตา เป็นบทเพลงสำหรับเครื่องดนตรีเดี่ยว เช่น เปียโน จะใช้เปียโนบรรเลงเครื่องเดียวเนื่องจากเปียโนสามารถบรรเลงทั้งแนวทำนองและแนวประสานเสียงได้ในเครื่องเดียวกัน ส่วนโซนาตา สำหรับเครื่องดนตรีชนิดอื่นมักจะมีเปียโนเป็นเครื่องดนตรีประกอบ เนื่องจากเครื่องดนตรีอื่น ๆ ไม่สามารถบรรเลงทั้งแนวทำนองและแนวประสานเสียงได้ เช่น ไวโอลินโซนาตา หมายถึงเป็นโซนาตาสำหรับไวโอลิน โดยมีเปียโนคลอ ความสำคัญหรือจุดเด่นจะอยู่ที่ไวโอลินมากกว่าเปียโน โซนาตาเป็นบทเพลงที่เน้นการแสดงออกของผู้บรรเลง เทคนิคของเครื่องมือ และแนวคิดของการประพันธ์ จึงจัดเป็นเพลงที่น่าสนใจและศึกษาทั้งในลักษณะของการประพันธ์ และเทคนิควิธีเล่น อย่างไรก็ตามเนื่องจากโซนาตาเป็นบทเพลงสำหรับเครื่องดนตรีชิ้นเดียว สีสันจะมีไม่ได้มากเท่าเพลงประเภทออร์เคสตรา แต่ความลึกซึ้งของเทคนิควิธีการประพันธ์ การแปรเปลี่ยนความซ้ำซากให้ต่างออกไป ตลอดจนการใช้องค์ประกอบอื่น ๆ ทางดนตรีเข้ามาเป็นหลักการประพันธ์ทำให้โซนาตาเป็นเพลงที่น่าสนใจฟังตลอดมาโครงสร้างของโซนาตาเนื่องจากรูปแบบของโซนาตาพัฒนามาจากรูปแบบสองตอนแบบย้อนกลับ จึงมีโครงสร้างเป็น 2 ตอน แต่เดิมรูปแบบของโซนาตาก็ใช้เครื่องหมายย้อยกลับ โดยในแต่ละตอนต้องเล่นซ้ำ แต่ในเวลาต่อมาเมื่อเพลงยาวขึ้น บางครั้งผู้แต่งเขียนเครื่องหมายซ้ำเฉพาะในตอนแรก ส่วนในตอนหลังไม่มีเครื่องหมายซ้ำ (Repeat) ในการบรรเลงจริงผู้เล่นอาจเคร่งครัดกับเครื่องหมายซ้ำหรือไม่ก็ได้ ทำให้ระเบียบปฏิบัติในเรื่องของการซ้ำมีความจริงจังน้องลง อย่างไรก็ตาม ผู้แต่งยังคิดเป็น 2 ตอนอยู่ดี เพียงแต่ต้องตัดการซ้ำออกไปเนื่องจากสัดส่วนที่ยาวเกินไปลักษณะอีกประการหนึ่งของการบรรเลงเพลงโซนาตาที่ต่างไปจากเพลงแชมเบอร์มิวสิก คือ ผู้บรรเลงจะไม่ดูโน้ตเพลง ต้องบรรเลงจากความจำ จึงมีคำว่า “รีไซทอล” (Recital) เกิดขึ้น สิ่งนี้เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ผู้บรรเลงแสดงออกได้อย่างเต็มที่ และเป็นที่ชื่นชอบของผู้ชม ผู้บรรเลงในลักษณะนี้มักเรียกว่า “เวอร์ทูโอโซ”

อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า โซนาตาสำหรับวงออร์เคสตรา คือ ซิมโฟนี และซิมโฟนีสำหรับเครื่องดนตรีเดี่ยว คือ โซนาตา

ดนตรีประเภทบรรเลง (Instrumental Music) #3 ~ Opera

โอเปรา (Opera)

โอเปรา คือ ละครที่มีเพลงและดนตรีเป็นหลักสำคัญในการดำเนินเรื่องราว โอเปราจึงเป็นผลรวมของศิลปะนานาชนิดเข้าด้วยกัน ตั้งแต่วรรณกรรม คือ บทร้อง เครื่องละคร การแสดง การเต้นรำ การร้องและการเล่นดนตรี ตลอดระยะเวลาร่วม 400 ปีที่เกิดมีโอเปราขึ้นมานั้น รูปแบบของโอเปรามีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาอยู่เสมอโอเปราจึงมีหลายประเภทการที่จะซาบซึ้งในโอเปรานั้นอาจเกิดจากการฟังได้ อย่างไรก็ตามการเข้าใจและซาบซึ้งในโอเปราอย่างแท้จริงน่าจะเป็นผลของการมีประสบการณ์ที่ได้ชมการแสดงโอเปราจริง ๆ ซึ่งทำให้ได้เห็นสิ่งต่าง ๆ ที่ดำเนินไปตั้งแต่การร้อง เสียงดนตรีประกอบการแสดง และฉาก สิ่งเหล่านี้ย่อมทำให้ผู้ชมสามารถเข้าใจลักษณะของโอเปราและนำไปสู่ความซาบซึ้งได้ (ณรุทธ์ สุทธจิตต์,2535: 89)

องค์ประกอบของโอเปรา องค์ประกอบสำคัญของโอเปราประกอบด้วย เนื้อเรื่อง ดนตรี และผู้แสดง

เนื้อเรื่อง

เนื้อเรื่องที่นำมาเป็นบทขับร้อง เป็นบทร้อยกรองที่มาจากตำนาน เทพนิยายนิทานโบราณ และวรรณกรรมต่าง ๆ ที่มีชื่อเสียงมาทำเป็นบทร้อง และที่แต่งขึ้นใหม่สำหรับแสดงอุปรากรโดยเฉพาะ โดยมีคีตกวีเป็นผู้แต่งทำนองดนตรี คีตกวีบางคนก็มีความสามารถแต่งเรื่องทำเนื้อเรื่องให้เป็นบทร้อยกรองหรือบทละครสำหรับขับร้อง และแต่งดนตรีประกอบทั้งเรื่องด้วยดนตรี ดนตรีในโอเปรานั้นเป็นปัจจัยที่ทำให้โอเปรามีชีวิตจิตใจ มักเริ่มด้วยดนตรีบรรเลงโหมโรง(Overture) บรรเลงประกอบบทร้อยกรองซึ่งเป็นบทขับร้อง ทั้งดำเนินเรื่องและเจรจากันตลอดทั้งเรื่อง ดนตรีเป็นองค์ประกอบสำคัญจนโอเปราได้รับการยกย่องให้เป็นผลงานของผู้ประพันธ์ดนตรี หรือ คีตกวี (Composer) มากกว่าที่จะคิดถึงผู้ประพันธ์เนื้อเรื่อง หรือ บทขับร้อง เช่น โอเปราเรื่อง Madame Butterfly Giacomo ของ Puccini (1878-1924)ปุกซินี เป็นคีตกวีที่แต่งดนตรีประกอบ ผู้แต่งละครเรื่องมาดามบัตเตอร์ฟลาย คือ David Belasco (David Belasco ได้เค้ารื่องนี้จากเรื่องสั้นของ John Luther Long) ผู้ร้อยกรองเนื้อเรื่องให้เป็นบทขับร้อง คือ Luigi lllica และ Giuseppe Giacosa แต่เมื่อพูดถึงโอเปราเรื่องมาดามบัตเตอร์ฟลายแล้ว ก็จะยกย่องให้เป็นผลงานของคีตกวีปุกซินี มักไม่มีใครนึกถึงนักประพันธ์ หรือ กวีผู้ร้อยกรองเรื่องให้เป็นบทขับร้อง หรือโอเปราเรื่อง Carmen ของ Georges Bizet ที่มี Prosper Merimee เป็นผู้ประพันธ์เรื่อง และมี Henri Meilhac และ Ludovic Halevy เป็นผู้ร้อยกรองบทขับร้อง แต่คนก็จะพูดกันถึงแต่เพียงว่าโอเปราเรื่องคาร์เมนของบิเซต์ ดนตรีที่ใช้บรรเลงประกอบเป็นวงออร์เคสตรา (Orchertral)

ผู้แสดง

ผู้แสดงโอเปรานอกจากต้องเป็นนักร้องที่เสียงไพเราะ ดังแจ่มใสกังวานมีพลังเสียงดีแข็งแรงร้องได้นาน ต้องฝึกฝนเป็นนักร้องอุปรากรโดยเฉพาะ แล้วยังเป็นผู้มีบทบาทยอดเยี่ยมด้วย เน้นในเรื่องน้ำเสียง ความสามรถในการขับร้อง และบทบาทมากกว่าความสวยงามและรูปร่างของผู้แสดง มักให้นักร้องเสียงสูงทั้งหญิงและชายแสดงเป็นตัวเอกของเรื่อง โดยทั่วไป น้ำเสียงที่ใช้ในการขับร้อง แบ่งเป็น 6 ระดับเสียง คือ เป็นน้ำเสียงนักร้องชาย 3 ระดับ และน้ำเสียงนักร้องหญิง 3 ระดับ ดังนี้

1. โซปราโน (Soprano) เป็นระดับเสียงสูงสุดของนักร้องหญิง
2. เมซโซ – โซปราโน (Mezzo - Soprano) เป็นระดับเสียงกลางของนักร้องหญิง
3. คอนทรัลโต หรือ อัลโต (Contralto or Alto) เป็นเสียงระดับต่ำสุดของนักร้องหญิง
4. เทเนอร์ (Tenor) เป็นเสียงระดับสูงสุดของนักร้องชาย
5. บาริโทน (Baritone) เป็นเสียงระดับกลางของนักร้องชาย
6. เบส (Bass) เป็นเสียงระดับต่ำสุดของนักร้องชาย

ลักษณะของโอเปรา

การศึกษาโอเปราให้เข้าใจถ่องแท้ ควรจะต้องศึกษาเนื้อเรื่องแต่ละเรื่องของโอเปรา รวมทั้งฉากต่าง ๆ ผู้แสดง ดนตรี และเพลงด้วย ซึ่งไม่สามารถนำมากล่าวได้ ณ ที่นี้ สิ่งที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้เป็นเพียงองค์ประกอบทั่ว ๆ ไป และประเภทของโอเปราเท่านั้น

ณรุทธ์ สุทธจิตต์ (2535: 90) ได้แบ่งลักษณะของโอเปรา ดังนี้

1. ลิเบรตโต (Libretto) คือเนื้อเรื่อง หรือบทละครของโอเปรา บางครั้งบทโอเปราอาจจะเป็นบทหนึ่งที่ดัดแปลงมาจากนวนิยายหรือบทละครอื่น ๆ บางครั้งบทโอเปราก็เป็นบทที่ผู้ประพันธ์แต่งเนื้อเรื่องขึ้นโดยเฉพาะ เพื่อให้ผู้ประพันธ์เพลงใช้เป็นบทแต่งโอเปรา เช่น ดา ปองเต (Da Ponte) เขียนบทโอเปราบางเรื่องให้กับโมทซาร์ท เช่น เรื่อง Don Giovanni บัวตา (Boita) เขียนบทโอเปราบางเรื่องให้กับแวร์ดี เช่น เรื่อง Otella บางครั้งบทโอเปราเป็นบทประพันธ์ของผู้ประพันธ์เพลงเองโดยแท้ เช่น วากเนอร์ ประพันธ์ Lohengrin และ The Flying Dutchman และเมโนตี (Menotti) ประพันธ์ The Telephone เป็นต้น

2. โอเวอร์เชอร์ (Overture) คือ บทประพันธ์ที่บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีล้วน ๆ ใช้เป็นเพลงนำก่อนการแสดงโอเปรา อาจเรียกเป็นภาษาไทยได้ว่า “เพลงโหมโรง” บางครั้งอาจใช้คำว่าเพรลูด (Prelude) แทนโอเวอร์เชอร์ เพลงโอเวอร์เชอร์อาจจะเป็นเพลงที่แสดงถึงบรรยากาศของโอเปราที่จะแสดง กล่าวคือ ถ้าโอเปราเป็นเรื่องเศร้าโอเวอร์เชอร์จะมีทำนองเศร้า ๆ อยู่ในที เป็นต้น บางครั้งโอเวอร์เชอร์อาจเป็นเพลงที่รวมทำนองหลักของโอเปราฉากต่าง ๆ ไว้ก็ได้ โอเวอร์เชอร์มักเป็นเพลงสั้น ๆ ประมาณ 4-8 นาที ปกติจะใช้วงออร์เคสตราทั้งวงบรรเลง ถ้าโอเปราเรื่องนั้นใช้วงออร์เคสตราประกอบ ลักษณะของเพลงโอเวอร์เชอร์ มักรวมเอาองค์ประกอบต่าง ๆ ของดนตรีไว้อย่างครบถ้วนไม่ว่าจะเป็นด้านความดัง – ค่อย , สีสัน ลีลาต่าง ๆ จึงทำให้โอเวอร์เชอร์เป็นบทเพลงที่ชวนฟังโอเวอร์เชอร์ของโอเปราบางเรื่องมีความไพเราะเป็นที่นิยมฟังและบรรเลงเป็นเพลงบทเพลงแรกของการแสดงคอนเสิร์ตโดยทั่วไป

3. รีซิเททีฟ (Recitative) คือบทสนทนาในโอเปราที่ใช้การร้องแทนการใช้คำพูด อย่างไรก็ตามมักจะไม่เป็นทำนองเพลงมากนัก มักจะเน้นที่คำพูดมากกว่า แต่ก็มีดนตรีและการร้องช่วยทำให้บทสนทนาน่าสนใจ เป็นลักษณะการร้องหรือดนตรีอีกประเภทหนึ่ง

4. อาเรีย (Aria) คือ บทร้องเดี่ยวในโอเปรา มีลักษณะตรงกันข้ามกับรีซิเททีฟ เนื่องจากเน้นการร้องและดนตรีเป็นหลัก มากกว่าจะเน้นการสนทนา อาเรียเป็นบทร้องที่ตัวละครตัวเดียวร้อง

5.บทร้องประเภทสอง สาม สี่ และมากกว่านี้ของตัวละคร (Duo, Trio, and Other Small Ensembles) บทร้องที่มีคนร้องสองคนแทนที่จะเป็นคนเดียวในลักษณะของอาเรียเรียกว่า ดูโอ (Duo) ถ้าเป็น 3 คนร้องเรียกว่า ทรีโอ (Trio) สี่และห้าคนร้องเรียกว่า ควอเต็ต (Quartet) และ ควินเต็ต (Quintet) และอาจมีมากกว่าห้าคนก็ได้ เช่น บทร้อง 6 คน (Sextet) “Lucia” จากเรื่อง Rigoletto เป็นบทร้องที่มีชื่อเสียงของโอเปรามาก

6. บทร้องประสานเสียง (Chorus) ในโอเปราบางเรื่องที่มีฉากประกอบด้วยผู้เล่นเป็นจำนวนมาก มักจะมีการร้องประสานเสียงเสมอ บทร้องประสานเสียงจากโอเปราที่มีชื่อเสียง เช่น “The Anvil Chorus” จาก II Irovatore, “The Pilgrim’s Chorus” จาก “Tannhauser, The Triumphal Chorus” จาก Aida

7. ออร์เคสตรา (Orchestra) วงออร์เคสตรานอกจากจะเล่นโอเวอร์แล้ว ยังใช้ประกอบการร้องในลักษณะต่าง ๆ ในโอเปราตลอดเรื่องในบางครั้งออร์เคสตราจะบรรเลงโดยไม่มีผู้ร้องเพื่อต่อเนื่องการร้องหรือริซิเททีฟแต่ละตอนหรือสร้างอารมณ์ในเนื้อเรื่องให้เข้มข้นขึ้นบางครั้งวงออร์เคสตราจะมีบทบาทในโอเปรามากทีเดียว เช่น โอเปรา ที่แต่งโดยวากเนอร์ มักจะเน้นการบรรเลงของวงออร์เคสตราเสมอ

8. ระบำ (Dance) ในโอเปราแทบทุกเรื่องมักจะมีบางตอนของฉากใด ฉากหนึ่งที่มีระบำประกอบ ในบางครั้งอาจจะเป็นระบำบัลเลท์ ซึ่งมักจะเป็นของคู่กันโอเปราแบบฝรั่งเศส (French Opera) บางครั้งอาจจะเป็นระบำในลักษณะอื่น ๆ เช่น ระบำพื้นเมือง การเต้นรำแบบต่าง ๆ เช่น วอล์ท

9. องก์ และฉาก (Acts and Scenes) โอเปราก็เช่นเดียวกับละครทั่ว ๆ ไป มีการแบ่งเป็นตอน ๆ เรียกว่า องก์ และแบ่งย่อยลงไปเป็นฉาก เช่น Carmen เป็นโอเปรา ประกอบด้วย 4 องก์เป็นต้น

10. ไลม์โมทีฟ (Leitmotif) ในโอเปราบางเรื่อง ผู้ประพันธ์จะมีแนวทำนองต่าง ๆ แทนตัวละครแต่ละตัว หรือแทนเหตุการณ์ สภาพการณ์ และแนวทำนองเหล่านี้จะปรากฏอยู่ตลอดเวลาในโอเปราเพื่อแทนตัวละครหรือเหตุการณ์นั้น ๆ วากเนอร์เป็นผู้หนึ่งที่ชอบใช้ไลท์โมทีฟ เช่น Ring motive ของ Ring Cycle และ Love motive ใน Tristan and Isolde

ประเภทของโอเปรา

1. โอเปรา (Opera) โดยปกติคำว่า “โอเปรา” มักจะใช้จนเป็นที่เข้าใจว่า หมายถึงโอเปราซีเรีย (Opera seria) หรือ Serious opera หรือ Grand opera ซึ่งเป็นโอเปราที่ผู้ชมต้องตั้งใจดูอย่างมากเพราะการดำเนินเรื่องใช้บทร้องลักษณะต่าง ๆ และรีซิเททีฟไม่มีการพูดสนทนาซึ่งจัดว่าเป็นศิลปะดนตรีชั้นสูง เช่นเดียวกับการเข้าถึงศิลปะแขนงอื่น ๆ การชมโอเปราประเภทนี้จึงต้องมีพื้นความรู้และมีความเข้าใจในองค์ประกอบของโอเปรา โดยเฉพาะด้านดนตรีเพื่อความซาบซึ้งอย่างแท้จริงเรื่องราวของโอเปราประเภทนี้มักจะเป็นเรื่องของความเก่งกาจของพระเอกหรือตัวนำ หรือเป็นเรื่องโศกนาฏกรรม (Heroic or tragic drama)

2. โคมิค โอเปรา (Comic Opera) คือ โอเปราที่มักจะมีเนื้อเรื่องที่สนุกสนาน ตลกขบขันล้อเลียนคน หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ มักมีบทสนทนาที่ใช้พูดแทรกระหว่างบทเพลงร้อง โอเปราประเภทนี้จะดูง่ายกว่าประเภทแรก เนื่องจากเนื้อเรื่องสนุกสนาน มีบทสนทนาแทรก ดนตรีและเพลงที่ฟังไพเราะไม่ยากเกินไป โคมิคโอเปรามีหลายประเภท เช่น Opera – comique (ฝรั่งเศส) Opera buffa (อิตาเลียน) Ballad opera (อังกฤษ) และ Singspiel (เยอรมัน)

3. โอเปเรตตา (Operetta) โอเปอเรตตาจัดเป็นโอเปราขนาดเบามีแนวสนุกสนานทันสมัยอาจจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความรักกระจุ่มกระจุ๋ม คล้าย ๆ กับ โคมิคโอเปรา โดยปกติโอเปเรตตาใช้การพูดแทนการร้องในบทสนทนา

4. คอนทินิวอัส โอเปรา (Continuous opera) เป็นโอเปราที่ผู้ประพันธ์ใช้ดนตรีเชื่อมโยงเรื่องราวตลอดตั้งแต่ต้นจนจบ มิใช่เป็นการร้องหรือสนทนาที่เป็นช่วง ๆ ลักษณะของคอนทินิวอัส โอเปรานี้วากเนอร์เป็นผู้นำและใช้เสมอในโอเปราที่เขาเป็นผู้ประพันธ์

ดนตรีประเภทบรรเลง (Instrumental Music) #2 ~ Concerto

คอนแชร์โต (Concerto)

ณรุทธ์ สุทธจิตต์ (2535 :80 - 81) ได้กล่าวถึงความหมายของคอนแชร์โตไว้ว่าเป็นคำภาษาฝรั่งเศส มีความหมายว่าการนำมารวมกัน (To join together) คำว่า คอนแชร์โนนี้ใช้ในความหมายที่เกี่ยวพันกับคำในภาษาอิตาเลียน คือ Concertare ซึ่งหมายถึง การรวมกัน กล่าวคือ ผู้แสดงร้องหรือบรรเลงดนตรีร่วมกัน เช่น ผู้ร้องเดี่ยวร้องร่วมกับวงประสานเสียง วงประสานเสียงสองวงร้องร่วมกัน ผู้ร้องร่วมแสดงกับวงดนตรี ความหมายเช่นนี้เริ่มใช้ในศตวรรษที่ 16 ถึงต้นศตวรรษที่ 18 ในช่วงศตวรรษที่ 17 ความหมายของคอนแชร์โต มีเพิ่มขึ้นมาโดยดึงรากศัพท์มาจากภาษาละติน หมายถึง การประชันหรือสู้กัน (Fighting of Contending) ซึ่งมีความหมายถึงการประชันกันระหว่างเครื่องดนตรีเดี่ยวกับวงออร์เคสตรา อันเป็นความหมายที่ใช้ในปัจจุบันจึงเห็นได้ว่า คอนแชร์โตมีความหมายหลายนัย การจะทราบว่า คอนแชร์โต หมายถึงสิ่งใดแน่จึงต้องดูถึงสภาพการณ์หรือสถานการณ์ในการใช้คำนี้คอนแชร์โต เป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน หมายถึง การประชันหรือสู้กัน (Fighting of Contending) มีความหมายถึงการประชันกันระหว่างเครื่องดนตรีเดี่ยวกับวงออร์เคสตรา คอนแชร์โตเป็นประเภทของบทเพลงที่ประกอบด้วย 3 ท่อน (Movement) คือ

ท่อนที่ 1 (First Movement) เป็นบทนำของเพลง ความเร็วจังหวะใช้ในลักษณะเร็ว แบบ อัลเลโกร (Allegro)

ท่อนที่ 2 (Second Movement) โดยทั่วไปจะเป็นท่วงทำนองที่ช้าเป็นการพัฒนาทำนองหลักของบทเพลง(Theme)มีลักษณะช้าใช้ในลักษณะของอันตาลเต (Andante), อะดาจิโอ (Adagio), หรือลาร์โก (Largo)

ท่อนที่ 3 (Third Movement) ลักษณะของโครงสร้างมักจะเป็นลักษณะของความเร็วแบบสนุกสนาน เร็ว อาจจะเป็น อัลเลโกร (Allegro),อัลเลเกร็ตโต(Allegretto), วิวาเช (Vivace)

เครื่องดนตรีที่นิยมนำมาประพันธ์เพื่อบรรเลงเดี่ยวประเภทคอนแชร์โตมักได้แก่ เปียโน, ไวโอลิน, เชลโล, ฟลูท, หรือแม้กระทั่งระนาดเอก ก็ยังเคยนำมาทำเป็นบทเพลงประเภทคอนแชร์โตในการเขียนชื่อเพลงประเภทคอนแชร์โตนี้มักจะมีชื่อเครื่องดนตรีนั้น ๆ ปรากฏอยู่หน้าคำ “Concerto” เช่น - เปียโนคอนแชร์โต ในบันไดเสียง ซี เมเจอร์ ผลงานลำดับที่ 467 โดย โมทซาร์ท (Piano Concerto in C Major, K.467 by Mozart)- ไวโอลินคอนแชร์โน ในบันไดเสียง ดี เมเจอร์ ผลงานลำดับที่ 61 โดย เบโธเฟน (Violin Concerto in D Major, Op 61 by Beethoven)

ดนตรีประเภทบรรเลง (Instrumental Music) #1 ~ Symphony

ซิมโฟนี (Symphony)

Arthur Jacobs ได้ให้คำนิยามของคำว่า ซิมโฟนี (Symphony) ในหนังสือ A New Dictionary of Music ไว้ว่า “ a sounding - together” ซึ่งแปลตามศัพท์ได้ว่า “เสียงที่รวมกัน” เป็นคำที่มาจากคำว่า “Sinfonia” ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 ซิมโฟนีเป็นบทเพลงที่เป็นรูปแบบและนิยมประพันธ์ในสมัยคลาสสิก (1750-1820) ในระยะแรก ๆ นั้นซิมโฟนียังมีรูปแบบที่ไม่แน่นอนนัก แต่ก็มีความแตกต่างจากเพลงในสมัยบาโรค (Baroque) ต่อมาได้มีการปรับปรุงจนมาถึงสมัยคลาสสิกทุกอย่างเริ่มมีแบบแผนมากขึ้น มีมาตรฐานที่เห็นชัดเจนขึ้น และใช้กันต่อมาจนถึงสมัยโรแมนติกและปัจจุบันบทเพลงซิมโฟนีที่ประพันธ์ขึ้นในสมัยคลาสสิกถือว่าเป็นต้นแบบของบทเพลงประเภทนี้และบทเพลงจำนวนมาก ประพันธ์โดย ไฮเดิล (ค.ศ.1732-1809)

คีตกวีชาวออสเตรียนเป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น“บิดาแห่งซิมโฟนี” ไฮเดิลได้ประพันธ์บทเพลงซิมโฟนีไว้รวมทั้งสิ้น 104 บท (ณรุทธ์ สุทธจิตต์,2535 :115)


รูปแบบของซิมโฟนีบทเพลงประเภทซิมโฟนีเป็นเพลงขนาดใหญ่ซึ่งผู้ประพันธ์เพลงประพันธ์ขึ้นอย่างมีกฏเกณฑ์และแบบแผนเพื่อใช้บรรเลงสำหรับวงออร์เคสตรา โดยทั่วไปบทเพลงซิมโฟนีประกอบด้วย 3-4 ท่อน (Movement) โดยมีการจัดรูปแบบของความเร็วจังหวะแต่ละท่อนมีความเร็ว ดังนี้


ท่อนที่ 1 (First Movement) เป็นบทนำของเพลงมักมีความยาวมากที่สุด ใช้รูปแบบโซนาตาอัลเลโกร (Sonata Allegro) มีลักษณะของความลึกซึ้งสลับซับซ้อน ความเร็วจังหวะใช้ในลักษณะของ อัลเลโกร (Allegro)


ท่อนที่ 2 (Second Movement) โดยทั่วไปจะเป็นท่วงทำนองที่ช้าเป็นการพัฒนาทำนองหลักของบทเพลง (Theme) อาจใช้รูปแบบของแทร์นารี (ABA) มีลักษณะช้าใช้ในลักษณะของอันตาลเต (Andante), อะดาจิโอ (Adagio), หรือลาร์โก (Largo)


ท่อนที่ 3 (Third Movement) เป็นลีลาที่ไพเราะผ่อนคลายหรรษาไปตามบทเพลงที่เรียกว่า มีนูเอ็ท (Minuet) ลักษณะของโครงสร้างมักจะเป็นจังหวะเต้นรำมีการซ้ำทวนของทำนองต่าง ๆ มากที่สุด
ลักษณะของความเร็วแบบสนุกสนาน เร็ว อาจจะเป็น อัลเลโกร (Allegro),อัลเลเกร็ตโต(Allegretto), วิวาเช (Vivace)


ท่อนที่ 4 (Fourth Movement) มักจะมีท่วงทำนองที่เร็วและมีสาระของเพลงน้อยกว่าท่อนอื่น บางครั้งก็เป็นลีลาที่แปรผันมาจากทำนองหลัก (Theme) ความเร็วของจังหวะมีลักษณะเร็วเร้าใจแบบอัลเลโกร (Allegro) หรืออัลเลเกร็ตโต(Allegretto), และ วิวาเช (Vivace)

ดนตรีประเภทขับร้อง (Vocal Music) #8 ~ Mass

แมส (Mass)

แมส คือ บทเพลงสวดของชาวโรมันแคธอลิค มีพิธีสวดเรียกว่า พิธีแมส หรือ พิธีมิสซา เป็นพิธีสวดมนต์ในพิธีถวายมหาบูชาแก่พระผู้เป็นเจ้า ตลอดจนรวมไปถึงการเทศน์ของบาทหลวงด้วย มีบทสวดต่าง ๆ ตามแต่บาทหลวงจะเป็นผู้กำหนดเป็นภาษาละติน ปัจจุบันแปลเป็นภาษาต่าง ๆ ที่ใช้กันทั่วโลก บทสวดเหล่านี้ถูกนำมาใส่ทำนองที่แต่งขึ้นลึกซึ้งพิสดารออกไปทุกที เพื่อแสดงความเลื่อมใสศรัทธาในองค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างสุดความสามารถของคีตกวี บทสวดในพิธีแมสหรือมิสซา จึงกลายเป็นชื่อ เพลงแมส หรือ เพลงมิสซา ไปเพราะฉะนั้นเพลงแมส ก็คือ เพลงขับร้องประสานเสียงชั้นสูง ที่คีตกวีแต่งทำนองร้องประสานเสียง โดยมีเนื้อร้องเป็นบทสวดภาษาละติน 5 บทด้วยกัน โดยเริ่มจากบท Kyrie “Lord have mercy”, Gloria, Credo, Sanctus, และ Agnus Dei เป็นต้นไป ในบางตอนของเพลงแมสจะมีการขับร้องเดี่ยว หรือเดี่ยวประกอบการประสานเสียงเพลงมิสซา มี 3 ประเภท คือ (ดนัย ลิมปดนัย,2522 :75)

Missa Solemins เป็นเพลงแมสที่ยาวที่สุด ประกอบด้วยเพลงย่อย ๆ หลาย ๆ เพลง ใช้ในงานที่เป็นพิธีรีตรองสำคัญ ๆ เช่น เพลง Mass in D, Op. 123 ของ BeethovenMissa Prodefunctus (Requiem) หรือ the Mass for the Dead มักเรียก Missa Requiem เรควิเอียม (Requiem Mass) คือ เพลงสวด

สำหรับงานศพ เรียกว่าแมสแห่งความตาย เพื่อสวดอ้อนวอนพระเจ้าให้มารับดวงวิญญาณของผู้ตายไปสู่สวรรค์ โดยทั่วไปคีตกวีจะทุ่มเทแรงใจแรงกายแต่งเรควิเอียมขึ้นเพื่อไว้อาลัยใคร อาจจะเป็นบุคคลผู้เป็นที่รักยิ่ง บุคคลที่ตนเคารพนับถือ เมื่อสิ้นชีวิตลงคีตกวีผู้มีความผูกพันกันก็จะแต่งเรควิเอียมขึ้นอย่างเต็มความสามารถ เพื่อแสดงถึงความระลึกถึง ความผูกพัน และความรักอาลัยที่คีตกวีมีต่อผู้ตาย ไม่ว่าจะเป็นเพลงสวดธรรมดา หรือเพลงสวดในงานศพ จัดได้ว่าเป็นเพลงขนาดใหญ่ต้องการความสามารถในการประพันธ์เป็นอย่างมาก เพลงประเภทนี้จึงมีความยาวมากมีหลายท่อน การร้องมีทั้งร้องเดี่ยว ร้องผสมวง และ
การร้องแบบประสานเสียงวงใหญ่รวมทั้งวงออร์เคสตรา คีตกวีแต่ละคนที่ประพันธ์เพลงเหล่านี้ จึงมักใช้เวลาในช่วงที่ตนมีความชำนาญมากแล้วหรือในช่วงมีอายุแล้วประพันธ์เพลงเหล่านี้ ซึ่งนอกจากเหตุผลดังกล่าวแล้วยังถือเป็นเพลงชั้นสูงถ้าไม่แน่ใจ หรือไม่ตั้งใจจริงแล้ว ผู้ประพันธ์เพลงจะไม่คิดประพันธ์เพลงประเภทนี้ โมทซาร์ทซึ่งจัดเป็นผู้ประพันธ์เพลงอัจฉริยะผู้หนึ่ง ประพันธ์เพลงแมสธรรมดา ไว้สองเพลง และประพันธ์เรควิเอียมไว้ 1
เพลง แต่ตอนท้ายประพันธ์ไม่จบเสียชีวิตเสียก่อน ลูกศิษย์ผู้หนึ่งคือ ซูสไมเออร์ประพันธ์ต่อจนจบตามโครงสร้างที่โมทซาร์ทได้วางไว้

แมสจึงจัดเป็นเพลงที่ต้องใช้ความสามารถในการประพันธ์มาก การแสดงเพลงประเภทนี้ก็ต้องการการเตรียมตัวอย่างมากทั้งผู้ร้องและวงออร์เคสตรา รวมทั้งผู้จัดการแสดง ดังนั้นเมื่อมีการแสดงเพลงประเภทนี้เมื่อใด ผู้ฟังมักจะตื่นเต้นและตั้งใจไปฟังเสมอ ซึ่งก็ไม่บ่อยครั้งนักที่จะมีการแสดงเพลงประเภทนี้

ดนตรีประเภทขับร้อง (Vocal Music) #7 ~ Cantata

แคนตาตา (Cantata)

แคนตาตา(Cantata) คือ บทประพันธ์ประเภทเพลงร้องที่นิยมประพันธ์กันในสมัยบาโรค ประกอบไปด้วยเพลงร้องหลายท่อน ได้แก่ การร้องเดี่ยว การร้องคู่ การร้องในลักษณะของการพูด (Recitative) และการร้องประสานเสียง บทร้องมีทั้งเกี่ยวข้องกับศาสนา และเรื่องทั่ว ๆ ไป บาคซึ่งประพันธ์แคนตาตาไว้มากมายล้วนเกี่ยวข้องกับศาสนาแทบทั้งสิ้น กล่าวคือประพันธ์แคนตาตา (Cantata) เกี่ยวกับศาสนาไว้ประมาณ 200 บท และแคนตาตาในลักษณะอื่น ๆ ไว้ประมาณ 25 บท รูปแบบสำหรับแคนตาตาเกี่ยวกับศาสนามักจะประกอบไปด้วย การเริ่มต้นของการร้องประสานเสียงที่ยืดยาวลักษณะของฟิวก์ ติดตามด้วยการร้องเดี่ยวและการร้องในลักษณะของการพูดของผู้ร้องเสียงต่าง ๆ ปิด ท้ายด้วยการร้องประสานเสียงสี่แนวแบบเพลงสวด (Recitative หรือ Hymn เช่นChrist lagintodesbanden, Ein Feste burg ist unser Gott Coffe ส่วนแคนตาตาเกี่ยวกับเรื่องทั่ว ไปเช่น Cantata Peasant Cantata) ผู้ประพันธ์คนอื่น ๆ ที่ประพันธ์แคนตาตาไว้นอกจากบาค ได้ ทันเดอร์ บุกสเตฮูเด สการ์แลนตตี คาริสซิมี คัมปา และราโม เป็นต้น (ณรุทธ์ สุทธจิตต์, 2535: 126)

ดนตรีประเภทขับร้อง (Vocal Music) #6 ~ Oratorio

ออราทอริโอ (Oratorio)

คือ บทเพลงที่ประกอบไปด้วยการร้องเดี่ยวของนักร้องระดับเสียงต่าง ๆ การร้องของวงประสานเสียง และการบรรเลงของวงออร์เคสตรา ซึ่งบทร้องเป็นเรื่องราวขนาดยาวเกี่ยวกับศาสนาคริสต์ แสดงในโรงแสดงคอนเสิร์ตหรือในโบสถ์ โดยไม่มีการแต่งตัวแบบละคร ไม่มีการแสดงประกอบ และไม่มีฉากใด ๆ ในขณะแสดง ลักษณะของออราทอริโอ (Oratorio)คล้ายกับโอเปราที่ไม่มีฉากและการแสดงประกอบ ลักษณะเด่นที่ต่างไปจากเพลงโบสถ์อื่น ๆ ได้แก่ การประพันธ์บทร้องที่คำนึงถึงดนตรีประกอบมิได้มุ่งถึงบทร้องที่นำมาจากบทประพันธ์ของวัดแต่ดั้งเดิมดังเช่นเพลงโบสถ์ลักษณะอื่น ๆ นอกจากนี้ออราทอริโอยังเป็นเพลงที่มีความยาวมากซึ่งต่างไป

จากแคนตาตาอันเป็นบทเพลงที่สั้นกว่า ออราทอริโอบางบทถ้าแสดงโดยสมบูรณ์อาจจะยาวถึง 4-6 ชั่วโมง ต่อมามีการตัดเพลงบางท่อนออกไปเพื่อลดเวลาการแสดงให้เหมาะสมกับโอกาส

ออราทอริโอมีกำเนิดขึ้นโดยผู้ประพันธ์เพลงนาม Carisimi(1605-1674) แต่นั้นมา นักประพันธ์เพลงผู้มีชื่อเสียงในแต่ละสมัยล้วนประพันธ์เพลงประเภทนี้ไว้เสมอ ที่มีชื่อเสียงได้แก่ Christmas Oratorio ของบาค Isarael in Egypt และ Messiah ของ Handel,The Creation และThe Seasons ของไฮเดิล (The Seasons มีบทร้องเกี่ยวกับฤดูต่าง ๆ มิได้เกี่ยวข้องกับศาสนาโดยตรงแต่ประการใด) Mount of Olives ของเบโธเฟน St. Paul Elijah ของเมนเดลซอน และ The Legend of St. Elizabeth ของลิสซต์ เป็นต้น (ณรุทธ์ สุทธจิตต์, 2535: 125)

ในด้านผู้ชมจำเป็นที่ต้องทราบว่าเมื่อนักร้องประสานเสียงร้องถึงบทที่44เมื่อถึงคำว่า“Hallelujah”
ทุกคนในโบสถ์หรือหอประชุมจะลุกขึ้นยืน การลุกขึ้นยืนในตอนที่ร้องถึง“Hallelujah” ก็สืบเนื่องมาจากในครั้งที่ Handel ยังมีอยู่ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 1743 ในการเสนอ “The Messiah” ต่อผู้ชมครั้งแรกในกรุงลอนดอน พระเจ้ายอร์จที่ 2 (King George II) ทรงพอพระทัยมาถึงกับประทับยืน เมื่อคณะนักร้องประสานเสียงร้องถึง “Hallelujah” ทุกคนในที่นั้นจึงต้องลุกขึ้นยืนตาม จนกระทั่งการร้องบทนั้นจบ จึงถือเป็นประเพณีสืบเนื่องมาจนปัจจุบันนี้

ดนตรีประเภทขับร้อง (Vocal Music) #5 ~ Motet

โมเท็ต (Motet)

โดยปกติแล้วจะอยู่ในตำราทางศาสนา (Sacred text) และใช้ในพิธีกรรมของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิค (Roman Catholic) โมเท็ต กำเนิดขึ้นในต้นศตวรรษที่13 ในขณะนั้น นักประพันธ์เพลงมักแต่งบทประพันธ์ที่เสริมแต่งประดับประดาเกรเกอเลียนแชนท์ (Gregorian Chant) เขียนเป็นโน้ตแนวต่ำสุด เป็นเพลงขับร้องประสานเสียง 3 แนว เดิมใช้ภาษาละติน ส่วนแนวบนอีก 2 แนว เป็นทำนองเพลงที่มีอิสระต่างจากแนวต่ำสุดที่ร้องเป็นภาษาละติน และร้องเป็นภาษาฝรั่งเศส โมเท็ตจึงเป็นเพลงขับร้องที่มีอิสระทั้งทำนองเพลง จังหวะ ภาษา และเนื้อร้อง (สุมาลี นิมมานุภาพ, 2534: 360-361)

ดนตรีประเภทขับร้อง (Vocal Music) #4 ~ Organum

ออร์กานุ่ม (Organum)

เป็นบทเพลงศาสนาร้องประสานเสียงแบบโพลิโฟนิค(Polyphonic Style) ซึ่งเป็นการริเริ่มการประสานเสียงครั้งแรกในดนตรีตะวันตก คือ การใช้ทำนองเพลงสอดประสานในระหว่างทำนองเพลงด้วยกันเอง ทำให้เกิดเสียงประสานขึ้นการขับร้องประกอบด้วยแนวทำนองหลัก 2 แนว ผู้ร้องทั้ง 2 แนวจะขับร้องกันคนละทางแต่การร้องจะดำเนินไปในเวลาเดียวกันตั้งต้นจนจบ (สุมาลี นิมมานุภาพ, 2534: 360)

ดนตรีประเภทขับร้อง (Vocal Music) #3 ~ Chants

แชนท์ (Chants)

เป็นเพลงสวดของศาสนาคริสต์ในศาสนกิจต่าง ๆ ในสมัยต้นคริสต์ศตวรรษ เป็นการขับร้องล้วนไม่มีดนตรีประกอบ ผู้ร้องต้องใช้เสียงแสดงออกถึงความปิติ ความเลื่อมใส ศรัทธา ในองค์พระผู้เป็นเจ้า เพื่อสรรเสริญสดุดี เพื่อขอพรต่อพระผู้เป็นเจ้า

ลักษณะของเพลงแชนท์มีทั้งการใช้คำร้อง 1 พยางค์ต่อเสียงหนึ่งหรือ 2 เสียง หรือใช้คำร้อง1 พยางค์ต่อเสียง สองถึงสี่เสียง และที่มีเสียงแต่ละพยางค์เอื้อนยาว ในระยะแรกที่ศาสนาคริสต์ได้รับความเลื่อมใสศรัทธาในภาคตะวันออกของทวีปยุโรปภาษาที่ใช้ในบทสวดและใช้ขับร้องด้วยเป็นภาษากรีก ต่อมาศาสนาคริสต์ได้แพร่หลายมาทางทวีปยุโรปตอนกลางและทางทิศตะวันตก ในสมัยอาณาจักรโรมันผู้ร่ำรวยศิลปะและวัฒนธรรมเรืองอำนาจ ภาษาละตินจึงได้รับเลือกเป็นภาษาของศาสนาคริสต์ เป็นบทสวดและใช้ขับร้องตั้งแต่ประมาณปี ค.ศ. 350 เป็นต้นมา

เพลงแชนท์ที่มีชื่อเสียงใช้กันมาจนปัจจุบันคือ เกรเกอเลียนแชนท์ (Gregorian Chant) ซึ่งเป็นเพลงแชนท์ทีพระสังฆราชเกรเกอเลียนมหาราช (Pope Gregory the Great) เป็นผู้รวบรวมแชนท์ที่มีใช้อยู่แล้วและแต่งเพิ่มเติมขึ้นอีกแล้วจัดลำดับบทเพลงสวดให้เป็นแบบฉบับ เป็นหลักปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่ค.ศ. 600 โดยมีเนื้อร้องเป็นภาษาละติน

ดนตรีประเภทขับร้อง (Vocal Music) #2 ~ Ritual Music

ดนตรีขับร้องประกอบพิธีกรรม (Ritual Music)

ดนตรีได้เริ่มมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์มานานแล้วมนุษย์เราทุกคนเกิดมาล้วนแล้วแต่มีความหวาดกลัวติดตัวมาทุกคนซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดดนตรีขึ้น กล่าวคือ การเกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ฝนตก ฟ้าร้อง แผ่นดินไหว ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกชนชาติทุกภาษาเกิดความกลัว ความกังวลใจ โดยคิดไปว่าสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เกิดจากสิ่งที่มองไม่เห็น หรือมีความเชื่อว่าเป็นจากการกระทำของภูตผีปีศาจ ฉะนั้น การที่จะทำให้ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นให้หายไปก็สามารถทำได้โดยการบวงสรวง โดยการเต้นรำ การร้องเพลง เพื่อเป็นการอ้อนวอนต่อเทพเจ้า หรือเป็นการตอบแทนในความปรานีและอีกนัยหนึ่งก็เพื่อทำให้เกิดความสบายใจของมนุษย์เรา

จากจุดนี้เองได้มีนักปราชญ์ได้สันนิษฐานว่าเป็นต้นกำเนิดของดนตรีโดยมีการพัฒนาต่อมาจากบทร้องเพื่ออ้อนวอนต่อเทพเจ้าก็กลายมาเป็นเพลงที่เกี่ยวกับศาสนาในสมัยต่อมาซึ่งมีลักษณะทำนองเพลงสั้น ๆ ขับร้องซ้ำ ๆ กันหลาย ๆ ครั้ง จากการขับร้องคนเดียวกลายมาเป็นการขับร้องที่มีต้นเสียงและมีลูกคู่ตาม จนเป็นการขับร้องหมู่ชายหญิงประสานเสียงที่มีลักษณะต่าง ๆกันออกไปตามสมัย
ดนตรีประกอบพิธีกรรมหรือเพลงศาสนาเป็นดนตรีที่สืบเนื่องมาจากความเชื่อถือในลัทธิในขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ ตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายตามที่มนุษย์เผ่าพันธุ์ต่าง ๆ สมมติขึ้น และมีส่วนสำคัญที่ทำให้ศาสนารุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสนาคริสต์

ดนตรีประเภทขับร้อง (Vocal Music) #1

ดนตรีประเภทขับร้อง (Vocal Music)
ดั่งที่เราได้ทราบกันดีอยู่แล้วว่าเครื่องดนตรีชิ้นแรกที่ธรรมชาติให้มนุษย์ติดตัวมาทุก ๆ คนคือ “เสียง” เสียงพูด เสียงตะโกน เสียงที่แสดงความดีใจ เสียใจ เสียงร้องเพลง ฯลฯ ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่มีต้นกำเนิดมาจากแหล่งเดียวกันคือ “เส้นเสียง” (Vocal chord) เส้นเสียงของมนุษย์เรานั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปตามวัย เช่น ในวัยเด็กชายประมาณ 15-16 ปี ในเด็กหญิงอาจจะเร็วกว่าเด็กชายประมาณ 14-15 ปี แต่ถึงอย่างไรก็ตามเส้นเสียงดังกล่าวนี้มนุษย์เราสามารถใช้ได้จนถึงสิ้นอายุขัยไปเลย

วิลเลียม เบิร์ด (William Byrd) คีตกวีชาวอังกฤษสมัยพระนางเอลิซาเบ็ธที่หนึ่ง ได้สดุดีเสียงขับร้องของมนุษย์ไว้ว่า “เสียงของเครื่องดนตรีชนิดใดที่จะอาจเอื้อมมาเทียบกับเสียงขับร้องของมนุษย์ได้นั้นไม่มี”

ดนตรีประเภทขับร้องมีหลายประเภดนตรีประเภทขับร้องมีหลายประเภทดังนี้

ดนตรีขับร้องประกอบพิธีกรรม (Ritual Music)
แชนท์ (Chants)
ออร์กานุ่ม (Organum)
โมเท็ต (Motet)
ออราทอริโอ (Oratorio)
แคนตาตา (Cantata)
แมส (Mass)