Yo!

Yo!

Friday, July 4, 2008

ดนตรีประเภทบรรเลง (Instrumental Music) #4 ~ Sonata

โซนาตา (Sonata)

โซนาตา เป็นคำภาษาอิตาเลียน (Italian Sonare, “to sound”) หมายถึง ฟัง จัดเป็นบทเพลงที่มีความสำคัญและมีบทบาทตลอดมาตั้งแต่สมัยบาโรคจนถึงสมัยปัจจุบัน คล้ายคลึงกับลักษณะของคอนแชร์โต โซนาตา มีอยู่สองลักษณะ คือ โซนาตาที่บรรเลงเป็นกลุ่มเครื่องดนตรีเล็ก ๆ ซึ่งเป็นโซนาตาแบบหนึ่งในสมัยบาโรค และโซนาตาที่บรรเลงโดยเครื่องดนตรีชนิดเดียว หรือ สองชนิด แต่เน้นการแสดงออกของเครื่องดนตรีเพียงชนิดเดียว โดยมีเครื่องดนตรีอีกชนิดหนึ่งคลอให้บทเพลงสมบูรณ์ขึ้น ซึ่งอาจเรียกว่า โซโลโซนาตาได้ โซนาตาในลักษณะนี้เป็นความหมายของโซนาตาที่ใช้กันตั้งแต่สมัยคลาสสิกจนถึงปัจจุบัน (ณรุทธ์ สุทธจิตต์ ,2535 :119)

นอกจากนี้ ณัชชา โสคติยานุรักษ์ (2542:72) ได้ให้ความหมายของคำว่า “โซนาตา”แปลว่า “เสียง” เมื่อพูดถึงโซนาตา อาจหมายถึง ประเภทของบทประพันธ์หรือประเภทของสังคีตลักษณ์ก็ได้ โซนาตาที่เป็นประเภทของบทประพันธ์ เป็นเพลงสำหรับเครื่องดนตรีเดี่ยว เช่น เปียโนโซนาตา ก็คือ บทเพลงสำหรับเดี่ยวเปียโน ไวโอลินโซนาตา เป็นบทเพลงสำหรับเดี่ยวไวโอลิน ฟลูทโซนาตา เป็นบทเพลงสำหรับเดี่ยวฟลูท อนึ่งเพลงเดี่ยวสำหรับเครื่องดนตรีที่ไม่ใช่เปียโนจะมีเครื่องดนตรีบรรเลงประกอบซึ่งมึกเป็นเปียโน บทบาทของเครื่องดนตรีที่บรรเลงประกอบในสมัยแรก ๆ จะเป็นแนวสนับสนุนเท่านั้น แต่ในสมัยต่อ ๆ มา เครื่องดนตรีประกอบจะเปลี่ยนบทบาทเป็นการบรรเลงร่วมกันหรือโต้ตอบกันมากกว่า ความสำคัญของบทบาทใกล้เคียงกันมากขึ้น บทประพันธประเภทโซนาตามักประกอบด้วย 3 หรือ 4 ท่อน ท่อนแรกมักอยู่ในอัตราจังหวะเร็ว ท่อนที่ 2 อยู่ในอัตราจังหวะช้า ท่อนที่ 3 มักอยู่บรรยากาศที่ร่าเริงสนุกสนานในจังหวะเต้นรำแบบมินูเอต

ประวัติของโซนาตาโซนาตา เป็นบทเพลงที่มีมาตั้งแต่สมัยบาโรค ซึ่งมีลักษณะเฉพาะต่างไปจากโซนาตาในสมัยคลาสสิก จึงเรียกว่า “บาโรคโซนาตา” โซนาตาในลักษณะนี้เป็นบทเพลงสำหรับวงดนตรีเล็กใน ลักษณะของแชมเบอร์มิวสิก โดยมีเครื่องดนตรีตั้งแต่หนึ่งชิ้นจนถึงหกหรือแปดชนิด ทีนิยมมากในสมัยนี้ คือ ทริโอโซนาตาเป็นบทเพลงสำหรับไวโอลินสองเครื่องและเครื่องบรรเลงแนวเบส (Continuo) อีกสองชิ้น โซนาตา

ในสมัยบาโรคมีสองลักษณะคือ โซนาตาสำหรับวัด (Church sonata) เป็นเพลงชั้นสูงเน้นรูปแบบการสอดประสานทำนอง (Contrapuntal texture) ประกอบด้วย 4 ท่อน (ช้า – เร็ว – ช้า - เร็ว) และโซนาตาคฤหัสถ์ (Chamber sonata) เป็นเพลงบรรเลงตามบ้านมีลักษณะเป็นเพลงชุดเต้นรำในรูปแบบของ Binary form เช่น ประกอบด้วย Prelude – Allemande – Courante – Sarabande Gigue ( หรือ Gavotte)

ในสมัยคลาสสิก โซโลโซนาตาเริ่มเข้ามามีบทบาทมากกว่าบาโรคโซนาตา จึงเรียกโซโลโซนาตา อีกชื่อหนึ่งว่า “คลาสสิกโซนาตา” ลักษณะของโซนาตาในสมัยคลาสสิกตอนต้นยังมีลักษณะไม่แน่นอนอาจจะมีเพียงท่อนเดียว หรือสามท่อน (เร็ว – ช้า - เร็ว) รูปแบบพัฒนามาเรื่อยจนมีรูปแบบแน่นอน คือ มีลักษณะคล้ายซิมโฟนี คือ มี 4 ท่อน หรือ คล้ายคอนแชร์โต คือ มี 3 ท่อน เครื่องดนตรีที่นิยมในการประพันธ์โซนาตา คือ เปียโน และไวโอลิน ไฮเดิน โมทซาร์ และเบโธเฟน คือผู้ประพันธ์เพลงที่ให้ความสนใจกับการประพันธ์ เพลงประเภทนี้เช่นเดียวกับซิมโฟนีและคอนแชร์โต ไฮเดินประพันธ์ โซนาตาไว้ทั้งหมด 62 บท โมทซาร์ทประพันธ์ไว้ 21 บท และประมาณ 37 บท ประพันธ์โดยเบโธเฟน ปกติโซนาตาสำหรับเปียโนใช้เปียโนบรรเลงเพียงอย่างเดียว แต่ถ้าเป็นโซนาตาของเครื่องดนตรีอื่น ๆ เช่น ไวโอลิน ฟลูท ทรัมเป็ต ฯลฯ มักใช้เปียโนคลอไปด้วย

ในสมัยโรแมนติก ผู้ประพันธ์เพลงคนสำคัญ ๆ ยังคงนิยมประพันธ์เพลงโซนาตา โดยเฉพาะเปียโนโซนาตา ไม่ว่าจะเป็น ชูเบิร์ท ชูมานน์ ลิสซท์ โชแปง และบราห์มส์ รวมทั้งผู้ประพันธ์รุ่นหลัง เช่น ดวอชาค กรีก แซงค์ – ซองส์ สเตราส์ ไชคอฟสกี และวากเนอร์ โซนาตายังคงเป็นบทเพลงที่ผู้ประพันธ์ในศตวรรษที่ 20 สนใจ แม้จะมีบทเพลงในลักษณะอื่น ๆ ที่นิยมประพันธ์กันมากกว่าโซนาตา ผู้ประพันธ์เพลงในยุคนี้ที่มีผลงานด้านโซนาตา ได้แก่ เดอบูสซี เบิร์ก ไอฟส์ เป็นต้น (ณรุทธ์ สุทธจิตต์, 2535: 120)

ลักษณะของโซนาโตลักษณะที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้เป็นลักษณะของคลาสสิกโซนาตา ซึ่งเป็นรูปแบบที่สำคัญ ซึ่งต่อมาในสมัยโรแมนติก และในสมัยปัจจุบันยังใช้ลักษณะเช่นนี้อยู่ ประกอบด้วย 3 หรือ 4 ท่อน ซึ่งมีรูปแบบแต่ละท่อนดังนี้

ท่อนแรก มีจังหวะเร็ว (Allegro) บางครั้งมีบทนำที่ช้า ใช้รูปแบบโซนาตาอัลเลโกรลักษณะซับซ้อนเร้าใจ

ท่อนที่ 2 จังหวะช้า (Andante, Largo หรือ Lento) รูปแบบที่นิยม ได้แก่ Sonata – allegro form, Ternary form, Binary form, Theme and Variation ลักษณะช้ามีแนวทำนองไพเราะ เน้นการแสดงออกของอารมณ์

ท่อนที่ 3 มีจังหวะเร็วหรือค่อนข้างเร็ว (Allegro หรือ Allegretto) รูปแบบ คือ มินูเอท หรือ สเคร์กโท (expanded ternary form) ลักษณะเป็นจังหวะเต้นรำส่วนใหญ่จะเป็นอัตราจังหวะ 3/4

ท่อนที่ 4 มีจังหวะเร็ว (Allegro, Presto) รูปแบบอาจจะเป็นโซนาตาอัลเลโกร หรือ รอนโด ลักษณะเร็ว มีพลังในตอนจบ

โซนาตา เป็นบทเพลงสำหรับเครื่องดนตรีเดี่ยว เช่น เปียโน จะใช้เปียโนบรรเลงเครื่องเดียวเนื่องจากเปียโนสามารถบรรเลงทั้งแนวทำนองและแนวประสานเสียงได้ในเครื่องเดียวกัน ส่วนโซนาตา สำหรับเครื่องดนตรีชนิดอื่นมักจะมีเปียโนเป็นเครื่องดนตรีประกอบ เนื่องจากเครื่องดนตรีอื่น ๆ ไม่สามารถบรรเลงทั้งแนวทำนองและแนวประสานเสียงได้ เช่น ไวโอลินโซนาตา หมายถึงเป็นโซนาตาสำหรับไวโอลิน โดยมีเปียโนคลอ ความสำคัญหรือจุดเด่นจะอยู่ที่ไวโอลินมากกว่าเปียโน โซนาตาเป็นบทเพลงที่เน้นการแสดงออกของผู้บรรเลง เทคนิคของเครื่องมือ และแนวคิดของการประพันธ์ จึงจัดเป็นเพลงที่น่าสนใจและศึกษาทั้งในลักษณะของการประพันธ์ และเทคนิควิธีเล่น อย่างไรก็ตามเนื่องจากโซนาตาเป็นบทเพลงสำหรับเครื่องดนตรีชิ้นเดียว สีสันจะมีไม่ได้มากเท่าเพลงประเภทออร์เคสตรา แต่ความลึกซึ้งของเทคนิควิธีการประพันธ์ การแปรเปลี่ยนความซ้ำซากให้ต่างออกไป ตลอดจนการใช้องค์ประกอบอื่น ๆ ทางดนตรีเข้ามาเป็นหลักการประพันธ์ทำให้โซนาตาเป็นเพลงที่น่าสนใจฟังตลอดมาโครงสร้างของโซนาตาเนื่องจากรูปแบบของโซนาตาพัฒนามาจากรูปแบบสองตอนแบบย้อนกลับ จึงมีโครงสร้างเป็น 2 ตอน แต่เดิมรูปแบบของโซนาตาก็ใช้เครื่องหมายย้อยกลับ โดยในแต่ละตอนต้องเล่นซ้ำ แต่ในเวลาต่อมาเมื่อเพลงยาวขึ้น บางครั้งผู้แต่งเขียนเครื่องหมายซ้ำเฉพาะในตอนแรก ส่วนในตอนหลังไม่มีเครื่องหมายซ้ำ (Repeat) ในการบรรเลงจริงผู้เล่นอาจเคร่งครัดกับเครื่องหมายซ้ำหรือไม่ก็ได้ ทำให้ระเบียบปฏิบัติในเรื่องของการซ้ำมีความจริงจังน้องลง อย่างไรก็ตาม ผู้แต่งยังคิดเป็น 2 ตอนอยู่ดี เพียงแต่ต้องตัดการซ้ำออกไปเนื่องจากสัดส่วนที่ยาวเกินไปลักษณะอีกประการหนึ่งของการบรรเลงเพลงโซนาตาที่ต่างไปจากเพลงแชมเบอร์มิวสิก คือ ผู้บรรเลงจะไม่ดูโน้ตเพลง ต้องบรรเลงจากความจำ จึงมีคำว่า “รีไซทอล” (Recital) เกิดขึ้น สิ่งนี้เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ผู้บรรเลงแสดงออกได้อย่างเต็มที่ และเป็นที่ชื่นชอบของผู้ชม ผู้บรรเลงในลักษณะนี้มักเรียกว่า “เวอร์ทูโอโซ”

อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า โซนาตาสำหรับวงออร์เคสตรา คือ ซิมโฟนี และซิมโฟนีสำหรับเครื่องดนตรีเดี่ยว คือ โซนาตา