Yo!

Yo!

Friday, July 4, 2008

ดนตรีประเภทบรรเลง (Instrumental Music) #3 ~ Opera

โอเปรา (Opera)

โอเปรา คือ ละครที่มีเพลงและดนตรีเป็นหลักสำคัญในการดำเนินเรื่องราว โอเปราจึงเป็นผลรวมของศิลปะนานาชนิดเข้าด้วยกัน ตั้งแต่วรรณกรรม คือ บทร้อง เครื่องละคร การแสดง การเต้นรำ การร้องและการเล่นดนตรี ตลอดระยะเวลาร่วม 400 ปีที่เกิดมีโอเปราขึ้นมานั้น รูปแบบของโอเปรามีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาอยู่เสมอโอเปราจึงมีหลายประเภทการที่จะซาบซึ้งในโอเปรานั้นอาจเกิดจากการฟังได้ อย่างไรก็ตามการเข้าใจและซาบซึ้งในโอเปราอย่างแท้จริงน่าจะเป็นผลของการมีประสบการณ์ที่ได้ชมการแสดงโอเปราจริง ๆ ซึ่งทำให้ได้เห็นสิ่งต่าง ๆ ที่ดำเนินไปตั้งแต่การร้อง เสียงดนตรีประกอบการแสดง และฉาก สิ่งเหล่านี้ย่อมทำให้ผู้ชมสามารถเข้าใจลักษณะของโอเปราและนำไปสู่ความซาบซึ้งได้ (ณรุทธ์ สุทธจิตต์,2535: 89)

องค์ประกอบของโอเปรา องค์ประกอบสำคัญของโอเปราประกอบด้วย เนื้อเรื่อง ดนตรี และผู้แสดง

เนื้อเรื่อง

เนื้อเรื่องที่นำมาเป็นบทขับร้อง เป็นบทร้อยกรองที่มาจากตำนาน เทพนิยายนิทานโบราณ และวรรณกรรมต่าง ๆ ที่มีชื่อเสียงมาทำเป็นบทร้อง และที่แต่งขึ้นใหม่สำหรับแสดงอุปรากรโดยเฉพาะ โดยมีคีตกวีเป็นผู้แต่งทำนองดนตรี คีตกวีบางคนก็มีความสามารถแต่งเรื่องทำเนื้อเรื่องให้เป็นบทร้อยกรองหรือบทละครสำหรับขับร้อง และแต่งดนตรีประกอบทั้งเรื่องด้วยดนตรี ดนตรีในโอเปรานั้นเป็นปัจจัยที่ทำให้โอเปรามีชีวิตจิตใจ มักเริ่มด้วยดนตรีบรรเลงโหมโรง(Overture) บรรเลงประกอบบทร้อยกรองซึ่งเป็นบทขับร้อง ทั้งดำเนินเรื่องและเจรจากันตลอดทั้งเรื่อง ดนตรีเป็นองค์ประกอบสำคัญจนโอเปราได้รับการยกย่องให้เป็นผลงานของผู้ประพันธ์ดนตรี หรือ คีตกวี (Composer) มากกว่าที่จะคิดถึงผู้ประพันธ์เนื้อเรื่อง หรือ บทขับร้อง เช่น โอเปราเรื่อง Madame Butterfly Giacomo ของ Puccini (1878-1924)ปุกซินี เป็นคีตกวีที่แต่งดนตรีประกอบ ผู้แต่งละครเรื่องมาดามบัตเตอร์ฟลาย คือ David Belasco (David Belasco ได้เค้ารื่องนี้จากเรื่องสั้นของ John Luther Long) ผู้ร้อยกรองเนื้อเรื่องให้เป็นบทขับร้อง คือ Luigi lllica และ Giuseppe Giacosa แต่เมื่อพูดถึงโอเปราเรื่องมาดามบัตเตอร์ฟลายแล้ว ก็จะยกย่องให้เป็นผลงานของคีตกวีปุกซินี มักไม่มีใครนึกถึงนักประพันธ์ หรือ กวีผู้ร้อยกรองเรื่องให้เป็นบทขับร้อง หรือโอเปราเรื่อง Carmen ของ Georges Bizet ที่มี Prosper Merimee เป็นผู้ประพันธ์เรื่อง และมี Henri Meilhac และ Ludovic Halevy เป็นผู้ร้อยกรองบทขับร้อง แต่คนก็จะพูดกันถึงแต่เพียงว่าโอเปราเรื่องคาร์เมนของบิเซต์ ดนตรีที่ใช้บรรเลงประกอบเป็นวงออร์เคสตรา (Orchertral)

ผู้แสดง

ผู้แสดงโอเปรานอกจากต้องเป็นนักร้องที่เสียงไพเราะ ดังแจ่มใสกังวานมีพลังเสียงดีแข็งแรงร้องได้นาน ต้องฝึกฝนเป็นนักร้องอุปรากรโดยเฉพาะ แล้วยังเป็นผู้มีบทบาทยอดเยี่ยมด้วย เน้นในเรื่องน้ำเสียง ความสามรถในการขับร้อง และบทบาทมากกว่าความสวยงามและรูปร่างของผู้แสดง มักให้นักร้องเสียงสูงทั้งหญิงและชายแสดงเป็นตัวเอกของเรื่อง โดยทั่วไป น้ำเสียงที่ใช้ในการขับร้อง แบ่งเป็น 6 ระดับเสียง คือ เป็นน้ำเสียงนักร้องชาย 3 ระดับ และน้ำเสียงนักร้องหญิง 3 ระดับ ดังนี้

1. โซปราโน (Soprano) เป็นระดับเสียงสูงสุดของนักร้องหญิง
2. เมซโซ – โซปราโน (Mezzo - Soprano) เป็นระดับเสียงกลางของนักร้องหญิง
3. คอนทรัลโต หรือ อัลโต (Contralto or Alto) เป็นเสียงระดับต่ำสุดของนักร้องหญิง
4. เทเนอร์ (Tenor) เป็นเสียงระดับสูงสุดของนักร้องชาย
5. บาริโทน (Baritone) เป็นเสียงระดับกลางของนักร้องชาย
6. เบส (Bass) เป็นเสียงระดับต่ำสุดของนักร้องชาย

ลักษณะของโอเปรา

การศึกษาโอเปราให้เข้าใจถ่องแท้ ควรจะต้องศึกษาเนื้อเรื่องแต่ละเรื่องของโอเปรา รวมทั้งฉากต่าง ๆ ผู้แสดง ดนตรี และเพลงด้วย ซึ่งไม่สามารถนำมากล่าวได้ ณ ที่นี้ สิ่งที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้เป็นเพียงองค์ประกอบทั่ว ๆ ไป และประเภทของโอเปราเท่านั้น

ณรุทธ์ สุทธจิตต์ (2535: 90) ได้แบ่งลักษณะของโอเปรา ดังนี้

1. ลิเบรตโต (Libretto) คือเนื้อเรื่อง หรือบทละครของโอเปรา บางครั้งบทโอเปราอาจจะเป็นบทหนึ่งที่ดัดแปลงมาจากนวนิยายหรือบทละครอื่น ๆ บางครั้งบทโอเปราก็เป็นบทที่ผู้ประพันธ์แต่งเนื้อเรื่องขึ้นโดยเฉพาะ เพื่อให้ผู้ประพันธ์เพลงใช้เป็นบทแต่งโอเปรา เช่น ดา ปองเต (Da Ponte) เขียนบทโอเปราบางเรื่องให้กับโมทซาร์ท เช่น เรื่อง Don Giovanni บัวตา (Boita) เขียนบทโอเปราบางเรื่องให้กับแวร์ดี เช่น เรื่อง Otella บางครั้งบทโอเปราเป็นบทประพันธ์ของผู้ประพันธ์เพลงเองโดยแท้ เช่น วากเนอร์ ประพันธ์ Lohengrin และ The Flying Dutchman และเมโนตี (Menotti) ประพันธ์ The Telephone เป็นต้น

2. โอเวอร์เชอร์ (Overture) คือ บทประพันธ์ที่บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีล้วน ๆ ใช้เป็นเพลงนำก่อนการแสดงโอเปรา อาจเรียกเป็นภาษาไทยได้ว่า “เพลงโหมโรง” บางครั้งอาจใช้คำว่าเพรลูด (Prelude) แทนโอเวอร์เชอร์ เพลงโอเวอร์เชอร์อาจจะเป็นเพลงที่แสดงถึงบรรยากาศของโอเปราที่จะแสดง กล่าวคือ ถ้าโอเปราเป็นเรื่องเศร้าโอเวอร์เชอร์จะมีทำนองเศร้า ๆ อยู่ในที เป็นต้น บางครั้งโอเวอร์เชอร์อาจเป็นเพลงที่รวมทำนองหลักของโอเปราฉากต่าง ๆ ไว้ก็ได้ โอเวอร์เชอร์มักเป็นเพลงสั้น ๆ ประมาณ 4-8 นาที ปกติจะใช้วงออร์เคสตราทั้งวงบรรเลง ถ้าโอเปราเรื่องนั้นใช้วงออร์เคสตราประกอบ ลักษณะของเพลงโอเวอร์เชอร์ มักรวมเอาองค์ประกอบต่าง ๆ ของดนตรีไว้อย่างครบถ้วนไม่ว่าจะเป็นด้านความดัง – ค่อย , สีสัน ลีลาต่าง ๆ จึงทำให้โอเวอร์เชอร์เป็นบทเพลงที่ชวนฟังโอเวอร์เชอร์ของโอเปราบางเรื่องมีความไพเราะเป็นที่นิยมฟังและบรรเลงเป็นเพลงบทเพลงแรกของการแสดงคอนเสิร์ตโดยทั่วไป

3. รีซิเททีฟ (Recitative) คือบทสนทนาในโอเปราที่ใช้การร้องแทนการใช้คำพูด อย่างไรก็ตามมักจะไม่เป็นทำนองเพลงมากนัก มักจะเน้นที่คำพูดมากกว่า แต่ก็มีดนตรีและการร้องช่วยทำให้บทสนทนาน่าสนใจ เป็นลักษณะการร้องหรือดนตรีอีกประเภทหนึ่ง

4. อาเรีย (Aria) คือ บทร้องเดี่ยวในโอเปรา มีลักษณะตรงกันข้ามกับรีซิเททีฟ เนื่องจากเน้นการร้องและดนตรีเป็นหลัก มากกว่าจะเน้นการสนทนา อาเรียเป็นบทร้องที่ตัวละครตัวเดียวร้อง

5.บทร้องประเภทสอง สาม สี่ และมากกว่านี้ของตัวละคร (Duo, Trio, and Other Small Ensembles) บทร้องที่มีคนร้องสองคนแทนที่จะเป็นคนเดียวในลักษณะของอาเรียเรียกว่า ดูโอ (Duo) ถ้าเป็น 3 คนร้องเรียกว่า ทรีโอ (Trio) สี่และห้าคนร้องเรียกว่า ควอเต็ต (Quartet) และ ควินเต็ต (Quintet) และอาจมีมากกว่าห้าคนก็ได้ เช่น บทร้อง 6 คน (Sextet) “Lucia” จากเรื่อง Rigoletto เป็นบทร้องที่มีชื่อเสียงของโอเปรามาก

6. บทร้องประสานเสียง (Chorus) ในโอเปราบางเรื่องที่มีฉากประกอบด้วยผู้เล่นเป็นจำนวนมาก มักจะมีการร้องประสานเสียงเสมอ บทร้องประสานเสียงจากโอเปราที่มีชื่อเสียง เช่น “The Anvil Chorus” จาก II Irovatore, “The Pilgrim’s Chorus” จาก “Tannhauser, The Triumphal Chorus” จาก Aida

7. ออร์เคสตรา (Orchestra) วงออร์เคสตรานอกจากจะเล่นโอเวอร์แล้ว ยังใช้ประกอบการร้องในลักษณะต่าง ๆ ในโอเปราตลอดเรื่องในบางครั้งออร์เคสตราจะบรรเลงโดยไม่มีผู้ร้องเพื่อต่อเนื่องการร้องหรือริซิเททีฟแต่ละตอนหรือสร้างอารมณ์ในเนื้อเรื่องให้เข้มข้นขึ้นบางครั้งวงออร์เคสตราจะมีบทบาทในโอเปรามากทีเดียว เช่น โอเปรา ที่แต่งโดยวากเนอร์ มักจะเน้นการบรรเลงของวงออร์เคสตราเสมอ

8. ระบำ (Dance) ในโอเปราแทบทุกเรื่องมักจะมีบางตอนของฉากใด ฉากหนึ่งที่มีระบำประกอบ ในบางครั้งอาจจะเป็นระบำบัลเลท์ ซึ่งมักจะเป็นของคู่กันโอเปราแบบฝรั่งเศส (French Opera) บางครั้งอาจจะเป็นระบำในลักษณะอื่น ๆ เช่น ระบำพื้นเมือง การเต้นรำแบบต่าง ๆ เช่น วอล์ท

9. องก์ และฉาก (Acts and Scenes) โอเปราก็เช่นเดียวกับละครทั่ว ๆ ไป มีการแบ่งเป็นตอน ๆ เรียกว่า องก์ และแบ่งย่อยลงไปเป็นฉาก เช่น Carmen เป็นโอเปรา ประกอบด้วย 4 องก์เป็นต้น

10. ไลม์โมทีฟ (Leitmotif) ในโอเปราบางเรื่อง ผู้ประพันธ์จะมีแนวทำนองต่าง ๆ แทนตัวละครแต่ละตัว หรือแทนเหตุการณ์ สภาพการณ์ และแนวทำนองเหล่านี้จะปรากฏอยู่ตลอดเวลาในโอเปราเพื่อแทนตัวละครหรือเหตุการณ์นั้น ๆ วากเนอร์เป็นผู้หนึ่งที่ชอบใช้ไลท์โมทีฟ เช่น Ring motive ของ Ring Cycle และ Love motive ใน Tristan and Isolde

ประเภทของโอเปรา

1. โอเปรา (Opera) โดยปกติคำว่า “โอเปรา” มักจะใช้จนเป็นที่เข้าใจว่า หมายถึงโอเปราซีเรีย (Opera seria) หรือ Serious opera หรือ Grand opera ซึ่งเป็นโอเปราที่ผู้ชมต้องตั้งใจดูอย่างมากเพราะการดำเนินเรื่องใช้บทร้องลักษณะต่าง ๆ และรีซิเททีฟไม่มีการพูดสนทนาซึ่งจัดว่าเป็นศิลปะดนตรีชั้นสูง เช่นเดียวกับการเข้าถึงศิลปะแขนงอื่น ๆ การชมโอเปราประเภทนี้จึงต้องมีพื้นความรู้และมีความเข้าใจในองค์ประกอบของโอเปรา โดยเฉพาะด้านดนตรีเพื่อความซาบซึ้งอย่างแท้จริงเรื่องราวของโอเปราประเภทนี้มักจะเป็นเรื่องของความเก่งกาจของพระเอกหรือตัวนำ หรือเป็นเรื่องโศกนาฏกรรม (Heroic or tragic drama)

2. โคมิค โอเปรา (Comic Opera) คือ โอเปราที่มักจะมีเนื้อเรื่องที่สนุกสนาน ตลกขบขันล้อเลียนคน หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ มักมีบทสนทนาที่ใช้พูดแทรกระหว่างบทเพลงร้อง โอเปราประเภทนี้จะดูง่ายกว่าประเภทแรก เนื่องจากเนื้อเรื่องสนุกสนาน มีบทสนทนาแทรก ดนตรีและเพลงที่ฟังไพเราะไม่ยากเกินไป โคมิคโอเปรามีหลายประเภท เช่น Opera – comique (ฝรั่งเศส) Opera buffa (อิตาเลียน) Ballad opera (อังกฤษ) และ Singspiel (เยอรมัน)

3. โอเปเรตตา (Operetta) โอเปอเรตตาจัดเป็นโอเปราขนาดเบามีแนวสนุกสนานทันสมัยอาจจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความรักกระจุ่มกระจุ๋ม คล้าย ๆ กับ โคมิคโอเปรา โดยปกติโอเปเรตตาใช้การพูดแทนการร้องในบทสนทนา

4. คอนทินิวอัส โอเปรา (Continuous opera) เป็นโอเปราที่ผู้ประพันธ์ใช้ดนตรีเชื่อมโยงเรื่องราวตลอดตั้งแต่ต้นจนจบ มิใช่เป็นการร้องหรือสนทนาที่เป็นช่วง ๆ ลักษณะของคอนทินิวอัส โอเปรานี้วากเนอร์เป็นผู้นำและใช้เสมอในโอเปราที่เขาเป็นผู้ประพันธ์