Yo!

Yo!

Friday, July 4, 2008

ดนตรีประเภทบรรเลง (Instrumental Music) #1 ~ Symphony

ซิมโฟนี (Symphony)

Arthur Jacobs ได้ให้คำนิยามของคำว่า ซิมโฟนี (Symphony) ในหนังสือ A New Dictionary of Music ไว้ว่า “ a sounding - together” ซึ่งแปลตามศัพท์ได้ว่า “เสียงที่รวมกัน” เป็นคำที่มาจากคำว่า “Sinfonia” ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 ซิมโฟนีเป็นบทเพลงที่เป็นรูปแบบและนิยมประพันธ์ในสมัยคลาสสิก (1750-1820) ในระยะแรก ๆ นั้นซิมโฟนียังมีรูปแบบที่ไม่แน่นอนนัก แต่ก็มีความแตกต่างจากเพลงในสมัยบาโรค (Baroque) ต่อมาได้มีการปรับปรุงจนมาถึงสมัยคลาสสิกทุกอย่างเริ่มมีแบบแผนมากขึ้น มีมาตรฐานที่เห็นชัดเจนขึ้น และใช้กันต่อมาจนถึงสมัยโรแมนติกและปัจจุบันบทเพลงซิมโฟนีที่ประพันธ์ขึ้นในสมัยคลาสสิกถือว่าเป็นต้นแบบของบทเพลงประเภทนี้และบทเพลงจำนวนมาก ประพันธ์โดย ไฮเดิล (ค.ศ.1732-1809)

คีตกวีชาวออสเตรียนเป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น“บิดาแห่งซิมโฟนี” ไฮเดิลได้ประพันธ์บทเพลงซิมโฟนีไว้รวมทั้งสิ้น 104 บท (ณรุทธ์ สุทธจิตต์,2535 :115)


รูปแบบของซิมโฟนีบทเพลงประเภทซิมโฟนีเป็นเพลงขนาดใหญ่ซึ่งผู้ประพันธ์เพลงประพันธ์ขึ้นอย่างมีกฏเกณฑ์และแบบแผนเพื่อใช้บรรเลงสำหรับวงออร์เคสตรา โดยทั่วไปบทเพลงซิมโฟนีประกอบด้วย 3-4 ท่อน (Movement) โดยมีการจัดรูปแบบของความเร็วจังหวะแต่ละท่อนมีความเร็ว ดังนี้


ท่อนที่ 1 (First Movement) เป็นบทนำของเพลงมักมีความยาวมากที่สุด ใช้รูปแบบโซนาตาอัลเลโกร (Sonata Allegro) มีลักษณะของความลึกซึ้งสลับซับซ้อน ความเร็วจังหวะใช้ในลักษณะของ อัลเลโกร (Allegro)


ท่อนที่ 2 (Second Movement) โดยทั่วไปจะเป็นท่วงทำนองที่ช้าเป็นการพัฒนาทำนองหลักของบทเพลง (Theme) อาจใช้รูปแบบของแทร์นารี (ABA) มีลักษณะช้าใช้ในลักษณะของอันตาลเต (Andante), อะดาจิโอ (Adagio), หรือลาร์โก (Largo)


ท่อนที่ 3 (Third Movement) เป็นลีลาที่ไพเราะผ่อนคลายหรรษาไปตามบทเพลงที่เรียกว่า มีนูเอ็ท (Minuet) ลักษณะของโครงสร้างมักจะเป็นจังหวะเต้นรำมีการซ้ำทวนของทำนองต่าง ๆ มากที่สุด
ลักษณะของความเร็วแบบสนุกสนาน เร็ว อาจจะเป็น อัลเลโกร (Allegro),อัลเลเกร็ตโต(Allegretto), วิวาเช (Vivace)


ท่อนที่ 4 (Fourth Movement) มักจะมีท่วงทำนองที่เร็วและมีสาระของเพลงน้อยกว่าท่อนอื่น บางครั้งก็เป็นลีลาที่แปรผันมาจากทำนองหลัก (Theme) ความเร็วของจังหวะมีลักษณะเร็วเร้าใจแบบอัลเลโกร (Allegro) หรืออัลเลเกร็ตโต(Allegretto), และ วิวาเช (Vivace)